วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Tokyo Trendy 15


โตเกียว เทรนด์ดี 15
ถัดจากร้านUNIQLOไปอีกนิดติดกับตึกCinema Rise ตรงข้ามตึกปาร์โก้3 คุณจะพบกับร้านสุดฮิป ที่มีโลโก้รูปหน้าลิงสีน้ำตาล และตัวอักษรสีเขียว เขียนว่า GO! APE  บนผนังเรียบสีเทามัน นั่นแหละครับร้านBAPE STORE ของ Tomoaki Nagaoหรือชื่อสั้นๆว่า Nigo (นิโกะ) ดีเจหนุ่มสังกัดกลุ่ม Teriyaki Boyz กลุ่มฮิปฮอปชื่อดังของญี่ปุ่น ที่มาเปิดร้านเสื้อผ้าแนวสตรีทแฟชั่น จนดังถล่มทลายไปทั่วเกาะญี่ปุ่นและเป็นที่ต้องการของหนุ่มฮิปสาวฮอปและผู้นิยมในแบรนด์ ถึงขนาดรอเข้าแถวคิวยาวเป็นชั่วโมง เพื่อสอยเสื้อยืดซักตัว  หมวกซักใบ หรือรองเท้าซักคู่ กลับไปนอนกอดให้ชื่นใจ เรื่องราวคุณนิโกะและสินค้าแบรนด์ดังของเค้า จะกลับมาพบกับคุณแน่ๆ แต่ไม่ใช่ในตอนนี้ ขอยกยอดเอาไว้ตอนพาไปคุณตลุยช้อปสินค้าแบรนด์เนมย่านโอโมเทะซันโดะและอาโอยามะละกัน
แต่สำหรับสาวนักช้อปต้องไม่พลาด เนินสเปน( Spain Zaka หรือ Spain Slope) ที่มากด้วยร้านเสื้อผ้า ร้านแว่นตา ร้านรองเท้า และร้านชุดชั้นใน AMO’S STYLE ที่มีสารพัดแบบ สารพันสี จะแบบกุ๊กกิ๊กคิกขุ หรือแบบเซ็กส์ซี่สีวาบหวาม มีให้คุณสาวๆได้เลือกกันจนเมื่อยเลยล่ะครับ จะไม่ให้เมื่อยได้ยังไง ก็ที่เห็นส่วนใหญ่ สาวไทยจะหยิบๆๆ  ชิ้นนั้นก็สวย ชิ้นโน้นก็ดี ชิ้นนี้ก็สบาย เผลอแป๊บเดียวหอบถุงเบ้อเริ่มเบ้อร่าออกมา คุณผู้ชายที่ลองแว่นอยู่ข้างๆ มองอย่างไม่เชื่อสายตาว่า ถุงใหญ่ขนาดนั้น เสื้อชั้นในล้วนๆครับ นอกจากที่ช้อปแล้วแถวนี้ยังมีร้านอาหารเก๋ๆ คาเฟ่เท่ห์ๆ ให้คุณได้พักเท้าอีกหลายร้าน รวมทั้งร้านเครปแสนอร่อยที่คุณสาวๆผู้ไม่ห่วงเรื่องน้ำหนักตัวต้องลองชิมของเค้าสักชิ้น
ถนนเนินสเปนนี้ อยู่ระหว่างร้านUNIQLO กับ BAPE STORE  อยู่ฝั่งเดียวกันนั่นแหละครับ หาไม่ยาก และถ้าเดินจากด้านข้างของตึกCinema Rise ลงไปก็จะสะดวกดี เพราะเป็นเนินช่วงเดินลง ช้อปไปลงไปไม่ต้องเมื่อย ลงไปเรื่อยๆก็จะไปชนกับ เซ็นเตอร์ไกฝั่งถนนอิโนะคะชิระ(Inokashira Dori) โผล่ออกมาก็จะเห็นป้อมตำรวจของแขวงอุดะงาวะอยู่ทางขวามือชื่อเนินเสปน ก็มีที่มาจากร้านอาหาร้านนึง ที่ตกแต่งร้านออกแนวสเปน และโดดเด่นเป็นที่รู้จัก เวลาใครจะไปใครจะมาแถวนี้ ก็เลยพร้อมใจกันเรียกถนนบนเนินเล็กๆนี้ว่า ถนนเนินสเปน (Spain Zaka Street)
อันที่จริงแล้วย่านชิบุยะนี้ยังมีที่ช้อปอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นห้างมารุอิ ร้านซีเลคช้อปชั้นนำอย่าง BEAMS,  SHIPS และ JOURNAL STANDARD เป็นต้น แต่ถ้าเขียนจนหมดเดี๋ยวคนย่านอื่นๆเค้าจะงอนเอา ก่อนจะหนีไปช้อปย่านอื่นต่อ ต้องขอแนะนำอาหารเด็ดของย่านชิบุยะนี้ไว้ เผื่อใครช้อปแถวนี้แล้วอยากหาอะไรง่ายๆทาน ลูกค้าหลายคณะ ที่ผมมักจะพาไปชิมอยู่บ่อยๆก็คือ ราเมนที่อร่อยสุดๆเจ้านึง
Ichiran Ramen ราเมนน้ำซุปกระดูกหมูจากฟุกุโอกะ (Tonkostu Ramen ทงโคทสึนะครับ ไม่ใช่ ทงคัทสึ เรียกกันผิดประจำสับสนกันหมดเลย ) ที่ผมยกตำแหน่งที่หนึ่งในใจของผมให้เลยครับ เพราะเป็นราเมนที่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ตามปกติของร้านราเมนเค้าจะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ3อย่างคือ เส้น น้ำซุป และเครื่องหรือหน้า ที่โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมูอบหรือหมูย่างหั่นเป็นแผ่นที่เรียกว่า ชาชู(chachu) แต่สำหรับที่Ichiran นี้นอกจากทั้ง3องค์ประกอบจะสมบูรณ์แล้ว เค้ายังมีองค์ประกอบที่4 ที่ทำให้บรรดานักชิมราเมนพากันติดอกติดใจก็คือ ซอสเผ็ด (Special Sauce) ที่ทำจากพริกแดงและเครื่องปรุงกว่า30ชนิด เจ้าซอสเผ็ดตัวนี้แหละครับทีเด็ดของร้านเลย  เค้าเป็นเจ้าแรกของญี่ปุ่นที่ใส่ซอสเผ็ดลงในราเมน สมัยก่อนคนญี่ปุ่นทานราเมนกันในรสชาติปกติ ออกเค็มๆซะเป็นส่วนมาก แต่พอมาเจอซอสเผ็ดเข้าเท่านั้นแหละ ความตื้นเต้นในรสชาติอันแปลกใหม่จึงทำให้Ichiran ที่เปิดมาตั้งแต่ปี1960 โด่งดังมาได้จนถึงทุกวันนี้ไม่มีตก
นอกจากรสชาติที่แตกต่างแล้ว รูปแบบของร้านและการให้บริการก็แตกต่างอย่างชัดเจน โดยปกติคนญี่ปุ่นจะทานอาหารในรสชาติมาตรฐานของร้านหรือของคนปรุง โดยตัดสินใจแล้วว่ามาทานร้านนี้เพราะรสชาติของเค้าเป็นอย่างนี้ แต่ที่Ichiranนี่ เค้าทำลายกฏเกณฑ์เหล่านี้ลง ด้วยการอนุญาติให้ลูกค้าเลือกรสชาติของราเมนได้ด้วยตัวเอง เค้าจะมีแบบสอบถามแผ่นเล็กๆ มีหัวข้อให้คุณเลือก7ข้อ ประกอบด้วย ความเข้มของรสชาติ ความมันของน้ำซุป ใส่กระเทียมหรือไม่ ต้นหอมด้วยหรือเปล่า เอาหมูด้วยมั้ย ใส่ซอสเผ็ดมากน้อยบอกไป และลวกเส้นอย่างไร  ใครชอบแบบไหนก็วงคำตอบที่คุณต้องการ และอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านIchiranเลย ก็คือที่นั่งที่เป็นเคาน์เตอร์มิดชิด มีผนังเล็กๆคั่นแต่ละที่นั่ง เมื่อราเมนมาเสริฟแล้ว ม่านด้านหน้าก็จะถูกดึงลง เพิ่มความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรีจะได้สูดเส้นราเมนเสียงดังได้ไม่อายใคร นี่ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ราเมนข้อสอบ จำได้ว่าคนแรกๆที่ให้ชื่อนี้ก็คือ คุณมนทิรา ภูปากน้ำ บก.บห.แห่งนิตยสารสุดสัปดาห์ ที่เคยไปชิมกันมาตอนไปถ่ายแฟชั่นที่ชิบุยะเมื่อหลายปีก่อน
ร้าน Ichira Ramen สาขานี้หาได้ไม่ยาก จากห้าแยกชิบุยะ เดินไปตามถนนชิบุยะทางด้ายขวาของตึกQ FRONT คราวนี้ให้เดินเลียบขวา ผ่านห้างเซย์บุที่อยู่ทางซ้ายมือไป ก็จะเจอห้างมารุอิแจม (Marui Jam) พอสุดห้างก็ให้สังเกตุว่าอยู่ตรงสามแยกไฟแดงที่ตัดกับถนนโคเอน (Koen-Dori) มองไปฝั่งตรงข้ามจะเป็นห้างมารุอิซิตี้ (Marui City) ตำแหน่งนี้แหละครับ กลับหลังหันก็จะเจอร้านIchiran Ramen ต้องเดินลงไปใต้ดิน ก็จะเจอตู้จำหน่ายบัตร เสียบแบงค์พันเยนเข้าไปแล้วกดเลือกราเมน มีอย่างเดียวราคาเดียวครับ ถ้าจำไม่ผิดก็ 780เยน เป็นออร์เดอร์มาตรฐานมีหมู2แผ่น ถ้าไม่พออิ่มก็กดอีก150เยนได้หมูอีก3แผ่น และถ้าอยากได้ไข่ต้มที่มีไข่แดงเป็นยางมะตูมก็ต้องกดเพิ่มอีก100เยน (อันนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด) กดเสร็จก็จะได้บัตรใบเล็กๆประมาณตั๋วรถไฟสมัยก่อน แล้วก็ไปเข้าคิวรอ เค้าจะมีแผงไฟบอกตำแหน่งที่นั่งที่ว่าง ตามลำดับตัวเลขในภาษาญี่ปุ่น พอเห็นหมายเลขไหนมีไฟสีน้ำเงินติดขึ้นมา ก็แสดงว่าที่นั่งตรงนั้นว่างและพร้อมให้บริการ เมื่อเข้าไปนั่งแล้วก็ยื่นบัตรเล็กๆไว้ข้างหน้า จะมีพนักงานนำแบบสอบถามมาให้  พอวงคำตอบเสร็จก็ยื่นพร้อมกับบัตรออร์เดอร์ที่กดมา ครู่เดียวสุดยอดราเมนก็มาวางอยู่ตรงหน้า รอให้คุณพิสูจน์รสชาติ ขอแอบเฉลยข้อสอบซักนิด รสชาติส่วตัวของผมต้องตอบ ข-ง-ก-ค-ข-ง-ข ครับ ใครจะลอกข้อสอบก็ไม่ว่ากัน อยากให้คุณได้ทานราเมนที่ผมคิดว่าอร่อยที่สุดตั้งแต่เคยชิมมาครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Tokyo Trendy 14


โตเกียว เทรนด์ดี 14
          ระหว่างร้านGap กับห้างปาร์โก้ตึก1 จะมีซอยเล็กๆคั่นกลาง ในซอยนี้ต้องบอกว่าเด็ดดวงมากครับ
แค่ร้านGapที่ปากซอยก็ช้อปสนุกมากแล้ว แบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น(Speciality Clothing Retailer)ชื่อดังจากซานฟรานซิสโกเจ้านี้ เข้าตลาดญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี1994 และเป็นที่นิยมของวัยรุ่นแดนอาทิตย์อุทัยในทันที เฉพาะในโตเกียวมีถึง25สาขา โดยมี Flagship store เชิดหน้าชูตาอยู่ที่ฮาราจูกุ รายละเอียดเอาไว้ไปว่ากันอีกทีตอนที่ไปฮาราจูกุก็แล้วกัน
                เข้าซอยไปนิดชิดซ้ายหน่อยก็จะเจอกับร้าน UNIQLO(ยูนิโคล) แบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าของญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี1949 มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดยามากูจิ  และมาเป็นตัวเป็นตนชัดเจนเอาเมื่อปี1984 โดยเปิดเป็นร้านค้าปลีกขายเสื้อผ้าแบบUnisexที่จังหวัดฮิโรชิมะ โดยใช้ชื่อ Unique Clothing Warehouse เรียกสั้นๆว่า UNIQLO จนมารุ่งเรืองกระเดื่องนามเอาตอนที่ได้นำแนวคิดการทำธุรกิจของGap มาปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นญี่ปุ่น และใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีก็ดังข้ามโลกไปเรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่นเสียแล้ว
 ปัจจุบัน UNIQLO มีสาขาในญี่ปุ่น750กว่าสาขา เฉพาะในโตเกียวก็ร่วม100สาขาเข้าไปแล้ว และยังขยายออกไปเปิดสาขาในต่างประเทศอีกมากมายหลายแห่ง ใกล้ๆหน่อยก็อย่างเช่น เกาหลี จีน ฮ่องกง สิงค์โปร์  และเลยไปไกลอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และปารีส โดยมียอดขายในปี2008สูงถึง586พันล้านเยน และถ้าเทียบชั้นในบรรดาแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น(Speciality Clothing Retailer)ระดับโลกแล้วก็ไม่ขี้เหร่ อยู่ในลำดับที่6 รองจาก Gap, Zara, H&M, Limited Brand และ Next แต่ก็ยังเหนือกว่า Polo, Esprit, Abercrombie & Fitch และBenetton เสียอีก
UNIQLO ได้รับการตอบรับมากยิ่งขึ้น เมื่อไปเปิด Flagship Store นอกประเทศแห่งแรกที่ย่านโซโหของมหานครนิวยอร์คในปี2006 และถัดมาอีกแห่งในปี2007 บนถนนอ๊อกฟอร์ดย่านช้อปปิ้งของกรุงลอนดอน
จนนิตยสารแฟชั่นและออกแบบหลายเล่ม ต่างพากันเล่าเรื่องและลงภาพของ Flagship Storeทั้ง2แห่งกันมากมาย ชวนให้ฝรั่งฝั่งโน้นอดใจไม่ไหว ต้องไปชมไปซื้อกันอย่างเนืองแน่น และล่าสุดก็กำลังจะเปิด Flagship Store นอกญี่ปุ่นแห่งที่3 ในย่านโอเปร่า ของกรุงปารีส มหานครแห่งแฟชั่น ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ช่วยทำให้ UNIQLO ก้าวเข้าสู่ความเป็น Global Brand ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นของUNIQLOเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนไปทั่ว เพราะเลือกใช้วัตถุดิบชั้นดีในการผลิต สไตล์ก็โดดเด่นเพราะออกแบบโดยนักออกแบบแฟชั่นชั้นนำ แถมราคาก็ยังโดนใจเพราะส่งไปผลิตที่ประเทศจีน เวียดนามและบังคลาเทศ จึงสามารถขายได้ในราคาถูก ไม่เพียงแต่จะมีสินค้าของกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มเด็กเล็กและเด็กโตก็ครบครัน ทั้งแฟชั่นเสื้อผ้าตามฤดูกาล ชุดทำงาน ชุดลำลอง ชุดนอน ชุดชั้นใน เข็มขัด กระเป๋า รองเท้า ถุงเท้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ผลิตโดยผ้าชนิดพิเศษ HEAT TECH ที่พัฒนาร่วมกับ Toray Industries, Inc. มีคุณสมบัติในการเก็บกักอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้รั่วไหลออกไป แถมเนื้อผ้าก็บาง จึงทำให้เสื้อผ้าหน้าหนาวทั้งชั้นนอกและชั้นในขายดิบขายดี ผมเองยังมีเก็บไว้ใช้อยู่หลายตัว เพราะใส่เสื้อผ้าไม่ต้องมากชิ้นแต่ป้องกันความหนาวได้ดีกว่าใส่เสื้อผ้าหนาๆหลายชั้น ประหยัดพื้นที่จัดเก็บในกระเป๋าเดินทางได้อีกเพียบ
ระยะหลังยังมีการแตกไลน์ UT (Uniqlo T-Shirt) ที่เน้นเเสื้อยืดเพียงอย่างเดียว แต่สารพัดลายหลากหลายสี มีให้เลือกเป็นพันๆแบบ ยิ่งขายดิบขายดี โดยมี UT Flagship Store อยู่ที่ฮาราจูกุ แต่ในร้าน UNIQLOทั่วไปก็มีมุมT-Shirt อยู่ด้วยเสมอ ราคาเริ่มต้นก็ประมาณตัวละ 1,500เยน ซื้อมากมีส่วนลดอีก  ผมไปติดใจเสื้อยืดลายการ์ตูนดังและมังหงะอยู่หลายตัว ที่ต้อนเข้าตู้ไปแล้วก็เช่น โจ สิงห์สังเวียน หน้ากากเสือ  Kokal และ Rough ใครที่เป็นแฟนมังหงะพลาดไม่ได้ครับ เพราะบางรุ่นบางลายหมดแล้วหมดกัน
UNIQLO สาขาที่ชิบุยะนี้ต้องบอกกันก่อนว่าร้านไม่ค่อยใหญ่และไม่ใช่ Flagship Store รวมใต้ดินแล้วมีแค่3ชั้นเท่านั้น แต่เชื่อเถอะว่าเข้าไปแล้วกลับออกมามือเปล่าไม่เป็นละกัน

Tokyo Trendy 13


โตเกียว เทรนด์ดี 13
               
                ห้างสรรพสินค้าในเครือเซย์บุกรุ๊ป (เดิม) คือ ห้างฯเซย์บุ (SEIBU) ห้างฯลอฟท์ (LOFT)และห้างฯปาร์โก้ (PARCO) ได้วางตำแหน่งของตัวเองไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าหลักๆ โดยห้างฯปาร์โก้จะสนองตอบความต้องการของบรรดาวัยรุ่นและนักนิยมแฟชั่น ห้างฯลอฟท์สำหรับคนชอบสินค้าแนวความคิดสร้างสรรค์ และห้างฯเซย์บุสำหรับคนชอบสินค้าคุณภาพและสินค้าแบรนด์เนม
          สำหรับห้างลอฟท์(LOFT) ที่สาขาชิบุยะนี่เค้ามีถึง7ชั้นรวมชั้นใต้ดิน ไล่เรียงตั้งแต่เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เครื่องครัว อุปกรณ์ในห้องน้ำ เครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว กระเป๋า นาฬิกา แว่นตา ปากกา เครื่องเขียน และอีกมากจารไนยยังไงไม่หมด ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนสินค้าแนวความคิดสร้างสรรค์คงจะเคยแวะเวียนไปที่ลอฟท์ สยามดิสคัฟเวอรี่มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากปรับโฉมไปเมื่อต้นปีและขยายพื้นที่เพิ่มเป็น3ชั้น ยิ่งทำให้ได้อารมณ์ใกล้เคียงกับเดินที่ญี่ปุ่นมากขึ้น  ใครที่ไม่เคยไปก็ควรลองแวะดู  มีสินค้าเหมือนกับที่ญี่ปุ่นมาให้เลือกซื้อถึงบ้านเรา ไปดูให้เห็นกับตาได้ความเข้าใจมากกว่าอ่านครับ
                ส่วนห้างฯเซย์บุ(SEIBU)ที่ถูกวางไว้รองรับคุณลูกค้ากระเป๋าหนักและรสนิยมสูง หลังจากถูกผนวกเข้ากับกลุ่มเซเว่นแอนด์ไอแล้ว ก็ได้มีการปรับลุ้คให้ดูเก๋ไก๋ทันสมัย สมกับที่อยู่ในย่านชิบุยะ  ห้างฯเซย์บุโฉมใหม่
ได้ฤกษ์เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2007 ภายใต้แนวคิด สร้างความสดใสให้กับชาวเมือง โดยเพิ่มสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพและความงาม รวมทั้งสินค้าแบรนด์เนมระดับหรู ทั้งของดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นชั้นแนวหน้า อย่างเช่น COMME des GARCONS, YOJI YAMAMOTO, ISSEY MIYAKE และแบรนด์เนมนำเข้าอีกสารพัด ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ครองใจลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น กลุ่มวัยรุ่นผู้พิศมัยสินค้าแบรนด์เนม ก็เพลิดเพลินใจ ไม่ต้องเดินไปไกลถึงโอโมเทะซันโดให้เมื่อยน่อง  ดึงวัยรุ่นกำลังซื้อสูงให้จบการซื้อที่ชิบุยะนี่เสียเลย ห้างเซย์บุที่ชิบุยะนี่เค้ามีอยู่2ตึก ตึกเอสำหรับคุณสุภาพสตรี มีทั้งหมด11ชั้นรวมชั้นใต้ดิน ส่วนตึกบีมี9ชั้น หลายชั้นสำหรับสุภาพบุรุษและอีกหลายชั้นที่คุณสุภาพสตรีขอมีเอี่ยวด้วย
                แต่ในบรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งสามแห่ง ต้องนับว่าปาร์โก้(PARCO) เป็นศูนย์รวมเทรนด์และแฟชั่นวัยรุ่นมากที่สุด แรกเริ่มเดิมทีตอนเปิดห้างฯปาร์โก้แห่งแรกที่ย่านอิเคะบุคุโระ ในปี1969  ทางกลุ่มเซย์บุได้วางตำแหน่งไว้ให้เป็นต้นแบบของห้างฯปาร์โก้ทุกสาขา และในปี1973 จึงได้เปิดสาขาที่ย่านชิบุยะขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นอย่างแท้จริง และยังเป็นสาขาที่ใช้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของวัยรุ่น แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาเทรนด์ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ปาร์โก้ เป็นห้างสรรพสินค้าเพื่อวัยรุ่นอย่างแท้จริง และมีกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นอยู่เป็นประจำ
          ห้างฯปาร์โก้สาขาชิบุยะแต่เดิมทีมีอยู่3ตึกด้วยกัน แต่ปัจจุบันเปิดให้บริการแค่2ตึกคือ ปาร์โก้ตึก1  (Parco Part 1) และปาร์โก้ตึก3(Parco Part 3) ทั้งสองตึกอุดมไปด้วยสินค้าแฟชั่นล้วนๆ เป็นของบรรดาหญิงสาวไปซักเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ ที่เหลือก็แบ่งให้หนุ่มๆบ้าง ร้านอาหารบ้าง ร้านหนังสือบ้าง สินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นเสียมาก แบรนด์นอกก็มีบ้างไม่มากนัก ตึก1มี10ชั้นรวมใต้ดิน ตึก3มี9ชั้นรวมใต้ดิน ชั้นบนสุดของทั้ง2ตึกเป็นโรงภาพยนต์  ส่วนตัวผมสามารถใช้เวลาไปกับร้านหนังสือLIBRO และร้านเครื่องเขียนDelfonicsที่ชั้นใต้ดินตึก1ได้เป็นชั่วโมงๆ  ถึงจะไม่ใหญ่โตเท่าร้านหนังสือKinokuniya และร้านเครื่องเขียน Ito-ya  แต่ของที่เค้าคัดมาล้วนแล้วแต่น่าดูน่าชมทั้งสิ้น  และก็ต้องไม่พลาดที่จะต้องข้ามมาเช็คเทรนด์รองเท้ารุ่นใหม่ๆที่ร้านOnitsuka Tiger ใต้ดินของตึก3ทุกครั้งที่ได้แวะไป
          การจะไปอุดหนุนห้างฯทั้งสามก็ไม่ยาก มาเริ่มต้นกันที่ห้าแยกชิบุยะ หันหน้าไปทางตึก Q FRONT เดินไปทางด้านขวาของตึกก็จะเป็นถนนชิบุยะ(Shibuya Street) เดินขึ้นไปเรื่อยๆก็จะเจอกับถนนอิโนะคะชิระ (Inokashira Dori)อยู่ทางซ้ายมือ ห้างเซย์บุทั้ง2ตึก อยู่ตรงหัวมุมทั้งสองข้างของถนนอิโนะคะชิระนั่นแหละ และถ้าเดินเเลยเข้าไปอีกนิด ก็จะเจอห้างลอฟท์อยู่ทางด้านขวามือ ถัดจากห้างเซย์บุตึกบีไป
                แต่ถ้าจะไปห้างปาร์โก้ ก็เดินบนถนนชิบุยะเหมือนกันแต่ให้เดินผ่านห้างเซย์บุทั้งสองตึกขึ้นไม่ต้องลี้ยว ให้ตรงขึ้นไปนิดนึงก็จะเจอถนนโคเอน (Koen Dori)อยู่ทางซ้ายมือ แล้วก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนโคเอน จะผ่านร้านDisney Store  เลยไปอีกหน่อยก็จะเจอร้านGAPS  ถัดจากร้านGAPSไปก็เป็นห้างปาร์โก้ ตึก1 และด้านหลังปาร์โก้ตึก1 ก็จะเป็นปาร์โก้ตึก3 ส่วนปาร์โก้ตึก2นั้นอยู่เลยปาร์โก้ตึก1 ขึ้นไปอีก แต่ปิดปรับปรุงไปตั้งแต่ปลายปี2007 ตอนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีผลกระทบกับโครงสร้าง จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกำหนดเปิดเลยครับ
                ระหว่างร้านGAPS กับห้างปาร์โก้ตึก1 จะมีซอยเล็กๆคั่นกลาง ในซอยนี้ยังมีย่านเด็ดร้านดังอยู่อีกหลายร้าน อาทิตย์หน้าผมจะพาคุณผู้อ่านไปสำรวจกันต่อครับ
         
         

Tokyo Trendy 12


โตเกียว เทรนด์ดี 12

            กลุ่มเซย์บุ (Seibu Group) ยักษ์ใหญ่แห่งย่านอิเคะบุคุโระ เป็นกลุ่มธุรกิจ บริการและการค้าขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยธุรกิจหลักอย่าง กลุ่มรถไฟเซย์บุ (Seibu Railways) กลุ่มค้าปลีก(Seibu Retailing) และกลุ่มเซซอน (Saison Credit)ที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มค้าปลีกอีกที โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจก็ดูแลธุรกิจของบริษัทลูกอีกหลากหลายเช่น โรงแรมในเครือปริ๊นซ์ (Prince Hotels and Resorts) และศูนย์การค้าเปเป้ (PePe) ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเรารู้จักกันดี เพราะมากกว่าครึ่งของบริษัทนำเที่ยวในเมืองไทย นิยมพาลูกค้าไปพักที่โรงแรมชินจูกุปริ๊นส์ (Shinjuku Prince Hotel) และโรงแรมซันไชน์ซิตี้ปริ๊นส์ (Sunshine City Prince Hotel)กันแทบทั้งนั้น และยังมีสโมสรเบสบอลเซย์บุไลอ้อน (Seibu Lions) ทีมของจังหวัดไซทามะ ที่มีPitcher มือดีอย่าง Daisuke Matsuzaka ซึ่งถูกซื้อตัวไปเล่นให้กับทีม Boston Red Sox ของ  US Major leagues ด้วยค่าตัวถึง 51ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 6,000ล้านเยน ในปี2006   ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้ปีกของกลุ่มรถไฟเซย์บุทั้งสิ้น
 ในส่วนของกลุ่มค้าปลีกก็ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซย์บุ (Seibu Department store) ห้างสรรพสินค้าปาร์โก้ (Parco Department store) และห้างสรรพสินค้าเซย์ยุ (Seiyu Supermarket) เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้ได้แยกออกจากกลุ่มเซย์บุไปแล้ว  สำหรับกลุ่มเซซอนนั้นก็จะเน้นในเรื่องของการให้บริการทางการเงินโดยผ่านการทำธุรกรรมบนบัตรพลาสติกเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นการออกบัตรเครดิตให้กับห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง การออกแบบระบบผ่อนชำระ ติดตั้งเครื่องกดเงินสด การประกันภัยและประกันชีวิต ปัจจุบันกลุ่มเซซอนได้แยกตัวเป็นอิสระออกจากกลุ่มเซย์บุเช่นเดียวกัน
                นอกจากกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่แล้ว กลุ่มเซย์บุยังมีธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อมที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart) ร้านหนังสือริบุโระ (Libro) ร้านสื่อบันเทิงเวฟ (Wave) หรือร้านข้าวหน้าเนื้ออันดับหนึ่งของญี่ปุ่นโยชิโนะยะ”(Yoshinoya) ก็เคยอยู่ในขุมกำลังของกลุ่มเซย์บุด้วย และที่เราๆท่านๆรู้จักกันดีอย่าง ร้านLOFT  และ MUJI ที่มาเปิดในเมืองไทย ก็เป็นผลิตผลที่มาจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเซย์บุอีกเช่นกัน โดยที่LOFTแตกตัวออกมาจากห้างสรรพสินค้าเซย์บุ  ส่วนMUJI มีห้างสรรพสินค้าเซย์ยุเป็นผู้ให้กำเนิดในปี1980  จนแยกออกมาตั้งเป็นบริษัท Ryuhin Keikaku ในปี1989 และเป็นอิสระจากเซย์ยุในปี1990
                ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มเซย์บุยังมีบริษัทนำเข้าและบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศอีกหลายแห่ง เช่น Seibu Motor Sales นำเข้ารถยนตร์จากยุโรป    ILLUMS(อิลุมุสุ)ห้างสรรพสินค้าจากประเทศเดนมาร์กโดยเน้นเฉพาะสินค้าตกแต่งภายใน  เครือโรงแรมIntercontinental   และDunkin Donuts ซึ่งได้ล่าถอยออกจากประเทศญี่ปุ่นไปในปี1998
            ด้วยขนาดที่ใหญ่จนเกินไปและความหลากหลายในธุรกิจ จึงทำให้กลุ่มเซย์บุประสบกับความยากลำบากเมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำในช่วงทศวรรษ90  กลุ่มเซย์บุจำต้องตัดบางธุรกิจออกจากเครือข่าย บางแห่งก็แยกตัวเป็นอิสระ บางแห่งก็ถูกซื้อไป และบางแห่งก็ล้มหายตายจาก แต่สุดท้ายกลุ่มเซย์บุก็สามารถฟันฝ่าวิกฤติในคราวนั้นมาได้  ปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงกลุ่มธุรกิจรถไฟ (Seibu Railways) เท่านั้นที่ยังเป็นของกลุ่มเซย์บุเดิมโดยมีกลุ่มเซซอนเป็นญาติสนิทที่คอยร่วมสนับสนุน ส่วนกลุ่มค้าปลีกนั้นได้ถูกเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มทุนขนาดยักษ์เซเว่นแอนด์ไอ เ(Seven & i Holding) เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของญี่ปุ่น 7- Eleven ไปเมื่อปี2005
                อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ70-80ที่กลุ่มเซย์บุ กำลังเรืองโรจน์อยู่นั้น ก็ได้เข้ามาท้าทายกลุ่มโตคิวเจ้าถิ่นย่านชิบุยะ ด้วยการส่งกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โดยมีห้างสรรพสินค้าเซย์บุมาประกบกับห้างสรรพสินค้าโตคิว เอาห้างParcoมาวัดกระแสกับตึกShibuya109 และมีLoft คอยคุมเชิง Tokyu Hands อยู่ไม่ไกล  ความโดดเด่นของฃองทั้งสามห้างจะสั่นสะเทือนกลุ่มโตคิวได้หรือไม่ โปรดติดตามต่อไปในอาทิตย์หน้าครับ


วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Tokyo Trendy 11


โตเกียว เทรนด์ดี 11
          สัปดาห์นี้เรายังอยู่กันที่ชิบุยะเช่นเดิม แหมก็มันมีของยั่วกิเลสให้ชวนซื้อกันเยอะมาก ทั้งคอเพลง แฟนรองเท้า และนักสะสมของเล่น เค้าก้ได้ร้านเด็ดร้านดังกันไปแล้ว สำหรับแฟชั่นนิสต้า อดใจรออีกนิด  ขอพาบรรดาคนชอบประดิษฐ์และหัวคิดสร้างสรรค์ ไปสำรวจห้าง TOKYU HANDS ที่เค้าออกตัวว่าเป็น CREATIVE LIFE STORE กันก่อนครับ
                TOKYU HANDS เป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าของกลุ่มโตคิว (TOKYU GROUP) ซึ่งมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่ชิบุยะนี่แหละครับ ห้างนี้เค้ามีอะไรหลายๆอย่างที่ต่างไปจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป ตอนแรกที่เปิดก็เน้นสินค้าจำพวกข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านแบบประกอบได้ด้วยตัวเอง (D.I.Y. หรือ Do it yourself) โดยเปิดสาขาแรกในปี คศ.1976 ที่ชิบุยะ พอเปิดปุ๊บก็โดนปั๊บ เพราะได้ทั้งความประหยัดและความสนุก ถูกใจบรรดาวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ตามหอพักหรือห้องเช่ากันมาก ข้าวของที่วางจำหน่ายก็ถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการใช้สอยและประหยัดพื้นที่ จะเข้ามุมหรือชิดผนัง จะยึดเพดานหรือเจาะข้างตู้ เค้ามีครบหมด ช่างเหมาะกับบ้านเล็กหรือห้องแคบซะจริงเชียว และที่สำคัญไม่เคยพลาดเรื่องการออกแบบที่เก๋ไก๋  หาใช่เป็นแค่ของถูกแล้วขาดการดูแลไม่  จากเดิมที่เน้นของใช้ในบ้านเป็นหลัก หลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม หลากหลายสินค้าแนวไอเดียก็พากันพรั่งพรูเข้าสู้ชั้นวางอย่างไม่ว่างเว้น ทำให้ TOKYU HANDS ขยายสาขาออกไปทั่วญี่ปุ่นถึง 13แห่ง และยังเปิดร้านเฉพาะทางอีก 3แบรนด์คือ outparts ที่เน้นกระเป๋าและสารพัดอุปกรณ์การเดินทาง  natulabo จำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความงามและเครื่องสำอางค์ และ HANDS SELECT ที่คัดเฉพาะสินค้าจำเป็นในบ้านมาเท่านั้น
          TOKYU HANDS ที่ชิบุยะ อยู่เลยร้าน MANDARAKE ไปหน่อยเดียว จากป้อมตำรวจของแขวงอุดะงาวะ เดินไปทางขวามือ จะเจอกับตึกBEAMที่อยู่ทางด้านซ้าย เดินเลยขึ้นไปอีกนิดจะเจอสามแยก ให้เดินเลี้ยวโค้งไปทางขวา ก็จะเจอกับห้าง TOKYU HANDS อยู่ตรงแถวๆโค้งนั่นแหละครับ  คุณสามารถเพลิดเพลินกับสรรพสินค้าในหมวดอุปกรณ์การเดินทาง ตั้งแต่แบบลุยป่าไปจนตลุยถึงเมืองนอก และสารพัดกระเป๋า จะเอาแบบใส่สตางค์ ใส่เอกสาร หรือใส่เสื้อผ้าหาได้ที่ชั้น1 ใครที่เป็นแฟนกระเป๋ายี่ห้อ PORTER หาได้ที่ชั้นนี้เช่นกัน  แต่ถ้ากำลังมองหาเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับจัดงานรื่นเริงบันเทิง รวมทั้งอุปกรณ์เล่นเกมส์  และเครื่องครัว ก็ต้องที่ชั้น2   ส่วนชั้น3 เค้ายกให้คุณแม่บ้านและคุณสุภาพสตรีที่รักสุขภาพและความงามโดยเฉพาะ  แต่ถ้าอยากเลือกเฟอร์นิเจอร์เก๋ โคมไฟเท่ห์ และเครื่องนอนนุ่มก็ต้องที่ชั้น4    สำหรับชั้น5 นี่เหมาไว้ให้คนรักเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน  รวมไปถึงเครื่องมือสร้างงานศิลป์และงานออกแบบ  แต่ถ้าเป็นงานฝีมือ ถักนิตติ้ง เย็บปักถักร้อย ทั้งคุณหรือของน้องหมา น้องแมว น้องกระต่ายและผองเพื่อนสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงอุปกรณ์ทำสวนก็ไปที่ชั้น6    ส่วนพวกหุ่นจำลองทั้งรถยนตร์ รถไฟ ต้องไปชั้น7 ซึ่งเค้ามีร้านกาแฟเล็กๆไว้คอยบริการด้วย     แต่ถ้าเป็นสินค้าจำพวกประกอบสร้างเอง (D.I.Y.) เรียนเชิญลงไปสำรวจที่ชั้นใต้ดิน B1 และ B2 ครับ จะซ่อมบ้าน เสริมรั้ว ปรับปรุงท่อ ติดตั้งไฟ ใส่โซ่จักรยาน หรือจะงานไม้ งานช่าง ไปสองชั้นนี้ กระดี๊กระด๊าแน่ เค้าเปิดให้บริการตั้งแต่ 10โมงเช้าจน2ทุ่มครึ่ง ถ้าอยู่ห้างนี้ต่ำกว่าชั่วโมง ต้องโดนปรับให้กลับเข้าไปเดินอีกรอบ ต้องค่อยๆเดิน ค่อยๆดู ของดีๆมันต้องค่อยๆพิจารณา แล้วคุณจะพบว่าไอเดียของเค้านั้นบรรเจิด ช่างคิดช่างประดิษฐ์ ผิดกับสินค้าในบางประเทศ ที่ดูแคลนคนซื้อด้วยการลอกเลียนความคิดมาผลิตของเลียนแบบ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่ จะได้เป็นชาติที่พัฒนากับเค้าเสียที
                และเมื่อมี TOKYU HANDS ก็จำต้องมี LOFT คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ จากกลุ่มเซย์บุ (SEIBU GROUP) กลุ่มบริษัทการค้าขนาดใหญ่จากย่านอิเคะบุคุโระ ที่เข้ามาท้าทายเจ้าถิ่นชิบุยะอย่างกลุ่มโตคิว (TOKYU GROUP) แบบไม่กลัวเกรง  โตคิวมีอะไร เซย์บุเค้าก็มีเหมือนกัน แถมใจกลางย่านเซนเตอร์ไก หัวใจของชิบุยะ กลุ่มเซย์บุได้เข้ามาวางขุมกำลัง เพื่อห้ำหั่นในสมรภูมิค้าปลีกกับกลุ่มโตคิวแบบห้ามกระพริบตา                สัปดาห์หน้า จะพาคุณสำรวจแนวรบของกลุ่มเซย์บุ ที่คุณรู้แล้วจะต้องหนาว เตรียมตัวและเตรียมแรงไว้ให้พร้อม ถ้าใจไม่แข็งพอ มีโอกาสเสียเงินให้กับกลุ่มเซย์บุแน่นอน