วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Tokyo Trendy 24


โตเกียว เทรนด์ดี 24
            เสร็จจากการเยี่ยมชมศาลเจ้าเมจิแล้ว ผมจะพาคุณไปรู้จักกับราเมนอีกร้านนึงครับ เป็นราเมนน้ำซุปกระดูกหมู(Tonkotsu Ramen) บ่งบอกยี่ห้อว่ามาจากเกาะคิวชูชัดเจน ดูได้จากชื่อร้านคือ Kyushu Jangara Ramen (คิวชู จังการะ ราเมน) ราเมนเจ้านี้โดดเด่นที่ความเข้มของน้ำซุปกระดูกหมูตามตำหรับคิวชู ใครที่ชอบซุปข้นๆหนักๆ ต้องไม่พลาด ยิ่งได้ซดร้อนๆตอนหน้าหนาวด้วยแล้ว ออกจากร้านมาสู้หนาวไปได้อีกหลายชั่วโมง
                เส้นทางไปก็ง่าย  เมื่อออกมาจากศาลเจ้าเมจิแล้วก็เดินเลี้ยวซ้ายผ่านสะพาน Jingu Bashi ไปแล้วก็หักซ้ายนิดนึงก็ข้ามถนนตรงทางม้าลายหน้าสถานีรถไฟ JRฮาราจูกุไปฝั่งตรงข้าม หรือถ้าพลังขายังเต็มเปี่ยมและน้ำเลี้ยงข้อเข่ายังสมบูรณ์จะข้ามสะพานลอยก็ได้ เสร็จแล้วให้เดินไปทางถนนโอโมเทะซันโด เมื่อผ่านแยกไปนิดเดียวก็เจอแล้วครับ ให้สังเกตุทางซ้ายจะเห็นป้ายร้านindio ร้านขายเสื้อผ้าคุณสุภาพสตรีที่อยู่ต่ำกว่าแนวถนนลงไป บนร้านindio ก็คือร้าน Kyushu Jangara Ramenครับ แต่ที่หน้าร้านอาจจะมองหาป้ายภาษาอังกฤษยากสักนิด แต่รับรองว่าไม่มีพลาดเพราะมีป้ายโฆษณาราเมนชามโตให้เห็นเด่นชัด ใครไม่สันทัดการส่งภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ต้องกังวล ที่นี่เค้ามีเมนูภาษาไทยให้อ่านจะได้ไม่พลาดความอร่อย เพราะคุณเจ้าของร้านที่ยังดูวัยรุ่น เค้าให้ความสำคัญกับลูกค้าชาวไทย ไหว้วานให้เพื่อนชาวไทยช่วยแปลเมนูทั้งหมดเป็นภาษาไทย จึงง่ายต่อชาวเราเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะเพียงเหตุผลนี้ก็ควรที่เราจะลองไปชิมราเมนของคนที่เค้าเห็นว่าเราสำคัญแล้วล่ะครับ
เมนูฮิตของร้านก็ไม่พ้นราเมนที่ชื่อเดียวกับร้าน Kyushu Jangara นั่นแหละครับ ต้องบอกว่าราเมนชามนี้เค้าใส่เครื่องเต็มที่จริงๆ เครื่องมาตรฐานอย่าง หน่อไม้ สาหร่าย หมูชาชู และไข่ต้มนั้นมากันครบ แต่ที่เพิ่มมาก็คือหมูสามชั้นต้มซีอิ๊วชิ้นโตและไข่ปลาเมนไทโกะที่ออกรสเผ็ดนิดๆ ของยอดฮิตของเกาะคิวชูเค้า ทำให้ราเมนชามนี้เหมาะสำหรับคนนิยมเครื่องเยอะและรสจัดเป็นอย่างยิ่ง แต่อาจไม่ถูกปากหากไม่ชอบความมัน นอกจากบรรดาเครื่องเคราที่ใส่มามากจนทานแทบไม่หมดแล้ว เส้นราเมนของร้านนี้ก็เป็นเส้นราเมนตามคิวชูนิยม คือราเมนเส้นเล็กที่ง่ายกับการทาน โดยเฉพาะการลวกเส้นของบรรดาราเมนจากคิวชูนั้น ถอดแบบเอกลักษณ์จากคิวชูที่มักจะลวกเส้นไม่นาน เนื้อเส้นจึงยังไม่นุ่มจนเกินไปและยังคงความแข็งอยู่บ้าง เพราะหากลวกนานจนเกินพอดี เส้นราเมนที่เล็กอยู่แล้วจะยิ่งนุ่มจนเละและยากต่อการทาน ความที่คนคิวชูนิยมทานราเมนในช่วงเวลาที่จำกัด การลวกเส้นให้สุกเพียงเล็กน้อย จึงสอดคล้องกับวิถีแห่งคนคิวชูเป็นอย่างยิ่ง
                และที่ต้องบอกกันอีกเรื่องสำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของราเมนจากคิวชู ไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหนก็ตาม เค้าจะมีบริการพิเศษสำหรับคนที่กินมากเป็นพิเศษ สามารถสั่งเส้นเพิ่มได้ในราคาแค่ 100-150เยน ขึ้นอยูกับแต่ละร้าน และที่สำคัญคือต้องเหลือน้ำซุปในชามอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เค้าถึงจะให้บริการ ถ้าเผลอไผลอดใจไว้ไม่อยู่ ซดน้ำซุปจนหมดถ้วยหรือเหลือติดก้นชามอยู่เพียงน้อยนิด เค้าสามารถปฏิเสธที่จะให้บริการนี้กับคุณได้นะครับ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างจะละเมียดกว่าการสั่งเพิ่มเส้นตั้งแต่ต้นเหมือนที่หลายๆร้านเค้าทำกัน เพราะร้านแบบนั้นเค้ามักจะมีลูกค้าเป็นคนทำงานหรือนักศึกษาที่ต้องการทานราเมนในปริมาณมากจนอิ่มในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เวลาที่เค้าลวกเส้นมามากกว่าปกติจึงทำให้สัดส่วนที่มาตรฐานของราเมนชามนั้นเกินความพอดี เพราะปริมาณของเส้นมากเกินไป ทำให้ต้องรีบเร่งทานก่อนที่เส้นมันจะอืด ดังนั้นการสั่งเส้นเพิ่มในภายหลังจึงน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้สัดส่วนของราเมนและน้ำซุปยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมาตรฐาน ทำให้ท่านได้ตัดสินใจก่อนที่จะทานเส้นราเมนเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้เสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ เป็นอีกวิธีที่สามารถลดการสิ้นเปลืองวัตถุดิบและพลังงาน ช่วยลดโลกร้อนได้ตามสมัยนิยม (ที่เวลาหน่วยงานไหน คิดโครงการอะไรใหม่ๆไม่ค่อยจะออก ก็ผลักดันโครงการลดโลกร้อนหรือลดการใช้พลังงานออกมาโดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกและจิตสำนึกกันแบบนั้นจริงๆ ลองไปดูเถอะครับว่า หน่วยงานต่างๆเหล่านั้น ทุกวันนี้ยังเปิดแอร์ เปิดไฟ ใชน้ำและขึ้นลิฟท์ในที่ทำงานกันอย่างปกติหรือเปล่า เพียงแค่เรื่องเหล่านี้ หากยังรณณรงค์กันเองในหน่วยงานไม่ได้  แล้วใครที่ไหนเค้าจะให้ความร่วมมือล่ะครับ)
                วิธีการสั่งราเมนเจ้านี้ก็ต่างจากราเมนเจ้าอื่นๆตรงที่ เมื่อคุณเดินขึ้นไปในร้านแล้ว จะเจอกับเคาน์เตอร์เก็บเงินเล็กๆทางซ้ายมือ ให้สั่งราเมนที่ชอบพร้อมชำระเงินให้เรียบร้อบ แล้วถึงจะไปนั่งรอทาน อันที่จริงก็คล้ายกับการกดเลือกเมนู ตามตู้กดของร้านอาหารแบบจานด่วนทั่วไปของญี่ปุ่นนั่นแหละครับ แต่ที่นี่ยังคงรักษาปฏิสัมพันธ์ระดับพื้นฐานเอาไว้ ยังให้คนได้พูดจากับคนอยู่ จึงดูเหมือนว่าจะเป็นเสน่ห์ของร้านไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะคุณป้าที่นั่งเก็บเงินรับออร์เดอร์ เห็นแล้วเหมือนกับตอนที่เดินเข้าไปสั่งอาหารในร้านข้าวแกงแถวบ้านยังไงยังงั้นครับ
                และด้วยขนาดของร้านและความจำกัดของพื้นที่ ส่วนนั่งรับประทานจึงมีแต่เฉพาะที่นั่งที่หันหน้าเข้าส่วนปรุงอาหารที่จัดเป็นแถวเรียงยาว1ชุด และส่วนที่หันหน้าออกมองเห็นถนนโอโมเทะซันโดอีกหนึ่งชุด โดยมีโต๊ะเล็กๆนั่งได้ไม่กี่คนอีก2-3ตัว เวลามีลูกค้ามารอต่อคิวกันมากๆ พื้นที่ว่างในร้านก็จะเต็มไปด้วยลูกค้ายืนเรียงอยู่ด้านหลัง รอชิมราเมนชามโปรดอยู่อย่างเป็นระเบียบ ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะเป็นการกดดันให้ต้องเร่งรีบลิ้มรสความอร่อยในแบบของคนญี่ปุ่น ไม่ใช่นั่งละเลียดชิมไปคุยไปเหมือนอย่างในบ้านเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น